ลูกไม่ถ่ายกี่วัน เรียกอาการท้องผูก

               การดูแลลูกน้อย สิ่งหนึ่งสิ่งสำคัญที่คนเป็นพ่อแม่มือใหม่ต้องหมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดกับลูก เพราะเราต้องไม่ลืมว่าเด็กน้อยอาจจะยังไม่เข้าใจในเรื่องการสื่อสาร สื่อความต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการลูกถ่ายยาก หรือลูกไม่ถ่าย จะเป็นปัญหามากในระยะยาวถ้าหากปล่อยทิ้งเอาไว้ วันนี้เราเลยมาดูกันว่าลูกน้อยเด็กทารกไม่ถ่ายกี่วัน ถึงจะเป็นอาการที่เรียกว่าท้องผูก คุณพ่อคุณแม่จะได้เอาไปหมั่นสังเกตกัน


               ภาวะท้องผูกในเด็ก เป็นลักษณะของอาการอุจจาระน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ อาการอุจจาระแข็งร่วมกับมีอาการเจ็บปวด ต้องเบ่งถ่ายมาก หรือมีเลือดปน ถึงแม้ว่าบางครั้งอาจจะอุจจาระทุกวัน หรือวันละ 2-3 ครั้งก็ตาม แต่ถ้ากรณีในเด็กทารกวัย 1-2 เดือนที่ได้รับนมมารดาอย่างเดียว อาจจะอุจจาระวันละหลายครั้ง หรือหลายวันครั้งก็ได้ โดยทารกกลุ่มนี้จะไม่มีอาการผิดปกติอื่นใด ดูดนมได้ดี น้ำหนักขึ้นตามปกติ บางรายอาจไม่อุจจาระนาน 5-10 วันก็ได้ ซึ่งจากข้อมูลเราจะสังเกตได้ว่า การสังเกตลูกๆตัวน้อยของเราว่าอยู่ในภาวะท้องผูกหรือไม่ ไม่สามารถสังเกตจากจำนวนครั้งของการถ่ายได้เพียงอย่างเดียว แต่อาจจะต้องพิจารณาถึงเรื่องอาหารการกิน อาการที่เคยมีมาก่อน และประวัติการรักษาเดิม โดยยาสำคัญอย่างหนึ่ง คือ นมแม่ซึ่งเป็นสารอาหารที่ดีที่สุดที่จะช่วยป้องกันลูกน้อยจากภาวะท้องผูกได้ แต่เมื่อลูกมีอายุ 6 เดือนขึ้นไปแล้ว อาจให้ทานน้ำผลไม้ ผัก น้ำซุปผัก และเด็กตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป สามารถฝึกการขับถ่าย โดยให้ถ่ายอุจจาระหลังอาหารเช้าทุกมื้อ ครั้งละ 10-15 นาที และดื่มน้ำมากๆ หลังตื่นนอน เพื่อให้ติดเป็นนิสัย อีกทั้งควรให้ทานผักและผลไม้ที่มีกากใยมากๆ เช่น มะละกอสุก กล้วยสุก ส้ม เป็นต้น เพราะใยอาหารจะช่วยให้อุจจาระอ่อนและขับถ่ายได้สะดวกขึ้น


               เมื่อลูกเข้าสู่ภาวะท้องผูกเรื้อรังแล้ว ควรพามาหาหมอ โดยหมอจะทำการตรวจวัดการทำงานของลำไส้ใหญ่และหูรูดทวารหนัก เป็นลำดับแรก เพื่อวินิจฉัยว่าอาการท้องผูกเรื้อรังเกิดจากอะไร หากเกิดจากภาวะที่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายขาดปมประสาทไปเป็นช่วง หรือไม่มีปมประสาทตั้งแต่กำเนิด ต้องผ่าตัดเท่านั้นจึงจะหายขาด ถ้าหากอาการท้องผูกเรื้อรังเกิดจากการเบ่งอุจจาระไม่ถูกต้อง หรือเกิดจากการเกร็งตัว ไม่คลายตัวของหูรูดทวารหนัก หรือโรคกลั้นอุจจาระไม่อยู่ได้ เพราะความผิดปกติของการทำงานของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่าย จะต้องรักษาด้วยการฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่าย ปรับการรับความรู้สึกในทวารหนักให้เป็นปกติ เพื่อให้สามารถถ่ายอุจจาระได้ดีขึ้นและเป็นปกติขึ้น

Author: werncm

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *